การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

ความเป็นมาของภูมิปัญญา

นางสุดใจทำอาชีพปลูกมัน ทำนา เป็นอาชีพหลักประกอบการเลี้ยงชีพ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงพ่อกับแม่ อยู่มาวันหนึ่งเริ่มคิดว่าแค่การรับจ้างทำนา ปลูกมัน รายได้ยังไม่ดีพอจึงมีการคิดหาอาชีพเสริมอีกอย่างหนึ่ง จนกระทั่งได้มีโอกาสพบกับครูที่จังหวัดเลยมาแนะนำวิธีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้ฟัง นางสุดใจเห็นว่ามีรายได้ต่อเดือนค่อนข้างดี เลยตัดสินใจทำการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพเสริมจนถึงปัจจุบันนี้ และได้ไปศึกษาดูงานบ้างเมื่อมีโอกาส

ขั้นตอน/วิธีทำ
ปลูกหม่อน

 1.ไถแปลงและเตรียมดินตากแดดไว้ประมาณ 5 วัน
 2.จากนั้นวัดระยะระหว่างแถวประมาณ 1 – 2 เมตร
 3.ขุดหลุมขนาดเล็กพอประมาณ เลือกกิ่งจากต้นหม่อนพันธุ์ที่แข็งแรงสมบูรณ์มาตัดเป็นท่อน
 4.นำกิ่งพันธุ์ไปปักชำที่แปลง จากนั้นกลบด้วยดินร่วน ปุ๋ยหมัก และมูลสัตว์ รดน้ำทุกเช้า - เย็น
 5.เมื่อต้นหม่อนเริ่มเจริญเติบโต ก็ใส่ปุ๋ยเดือนละ 1 ครั้ง ไม่ต้องรดน้ำเป็นประจำเหมือนการปักชำครั้งแรก จนกระทั่งเจริญเติบโตถึง 6 เดือน จึงจะสามารถนำไปเป็นอาหารเลี้ยงไหมได้

เลี้ยงไหม
 1.สร้างโรงเรือนหรือชั้นเลี้ยงไหมประมาณ 8X12 เมตร
 2.รับตัวอ่อนไหม (วัยสาม) มาจาก บริษัทจุลไหมไทย จังหวัดเพชรบูรณ์
 3.จากนั้นนำมาเพาะเลี้ยงในโรงเรือนโดยวางในชั้นเลี้ยง ประมาณสามวันก็ให้อาหารตัวอ่อน โดยการตัดยอด หม่อนยาว 1 เมตร เอามาวางทับตัวไหม ให้อาหาร 2 มื้อ เช้า-เย็น
 4.เมื่อถึง 4 วัน ตัวอ่อนไหมจะเจริญเติบโตเป็น “วัยสี่” ให้ตัดลำต้นหม่อนมาเป็นอาหารยาวประมาณ 2 เมตร วัยสี่นี้จะให้อาหาร 3 มื้อเพื่อเร่งการเจริญเติบโต
 5.จากนั้น 5-6 วัน ตัวไหมจะเจริญเติบโตเป็น “วัยห้า” ช่วงนี้ต้องหมั่นให้อาหารอยู่บ่อยครั้งประมาณ 4 มื้อ (การเลี้ยงไหมอาจจะยืดหยุ่นได้ตามสภาพอากาศ ถ้าอากาศเย็นอีก 2-3 วันไหมถึงจะกินอาหาร)
 6.เมื่อเข้าสู่ 6-8วัน ไหมวัยห้าจะเริ่มพ่นเส้นใยสร้างรัง และเข้าฟัก (เป็นดักแด้) อยู่ 1 อาทิตย์ ให้รีบเก็บไหมวัยห้าหรือไหมสุกเข้าจ่อเพื่อทำรัง
 7.การเก็บเส้นใยไหมจะเก็บตอนที่ไหมเป็นดักแด้ 2-3 วัน ดักแด้จะแข็งตัวและสมบูรณ์ จึงจะลอกรังไหมออกจากจ่อได้ ไม่ควรลอกรังไหมออกจากจ่อเร็วเกินไปเพราะตัวดักแด้ยังอ่อนอยู่ อาจจะแตกทำให้เกิดรังเปื้อนได้ ใช้เวลาในการทำ 21 วัน

วัสดุ/อุปกรณ์
เลี้ยงไหม

 -ตัวอ่อนไหม
 -กระด้ง
 -จ่อ
 -ชั้นเลี้ยงไหม
 -ตาข่ายอ่วนสีเขียว
 -ผ้าเขียวล้อมโรงเรือน

ปลูกหม่อน
 -กิ่งหม่อนจากต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์
 -จอบ
 -ปุ๋ยหมัก
 -มูลสัตว์

การเรียนรู้
เรียนรู้มาจากบริษัทจุลไหมไทย จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยไปศึกษาดูงาน และนำมาปฎิบัติเองที่บ้าน ใช้เวลาในการเรียนรู้ 2 วัน ภูมิปัญญานี้สามารถช่วยเป็นอาชีพเสริมที่เพิ่มรายได้เป็นอย่างดี และทำให้มีทักษะ ชำนาญการเลี้ยงไหมมากขึ้น

การถ่ายทอด
มีการถ่ายทอดให้กับ ลูกชาย และบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยสามารถแนะนำ และอธิบายให้บุคคลที่สนใจในเรื่องนี้ เพื่อที่จะนำไปประกอบเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมได้เสริมได้

ประโยชน์ภูมิปัญญาต่อการเรียนรู้

วิธีการปลูกหม่อน และการเลี้ยงไหม

พื้นที่โรงเรียน

ตชด. บ้านนาชมภู

กลุ่มสาระการเรียนรู้

กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี,

ภาพประกอบ

ผู้รวบรวม : ผศ.พฤษมงคล จุลพูล,น.ส.วารุณี ไชยคำจันทร์,น.ส.จริยา พาศิริ,น.ส.กอแก้ว เพชรเกตุ วันที่รวบรวม : 2559-03-05




ข้อมูลปราชญ์


นางสุดใจ มีชัยโย
บ้านนาชมภู

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

© 2016 | is.udru.ac.th All Right Reserved | สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี | login